เที่ยวแบบกรู พาลูกไปเที่ยวตามรอยหนังสือวิชา ๙ หน้า ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ ที่ช่วยพัฒนาให้คนไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน คือของขวัญล้ำค่าและกลายเป็นตำราของแผ่นดินไทยตราบชั่วนิรันดร์
หนังสือคู่มือ “วิชา๙หน้า ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ”
ชวนคนไทยออกเดินทางไปสัมผัสกับ ๙ วิชาของพ่อ
>> วิชาปรุงไทยในใจคน
>> วิชาชลปราการ
>> วิชาหลอกฟ้า
>> วิชานิเวศปฐมวัย
>> วิชาปลูกรักษ์
>> วิชาธรรมชาติสามัคคี
>> วิชารักแรงโน้มถ่วง
>> วิชาหมอดิน
>> วิชาตำนานพันธุ์
และยังนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังชุมชนใกล้เคียงที่น่าสนใจอื่นๆอีกด้วย
ซึ่งครอบครัวของเราเลือกที่จะไปตามรอย วิชานิเวศปฐมวัย ที่เข้ากับเพจของเราพอเหมาะแก่การพาลูกด้วยที่จังหวัดจันทบุรีค่ะ ล้อหมุนไปเที่ยวกับครอบครัวของเราที่
ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม บ้านปลา ธนาคารปู หมู่ที่ 5 ต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์
เราได้โทรศัพท์นัดหมายกับผู้ใหญ่อู๊ด ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดตั้งบ้านปลา ธนาคารปู แห่งนี้ขึ้นมา
หากพูดถึงชุมชนที่เข้มแข็ง ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของชุมชนต้องยกให้ชุมชนบางสระเก้า ที่มีอาชีพทำนา ทอเสื่อ ทำประมงเรือเล็กมาตั้งแต่บรรพบุรุษในลำคลองหนองบัว และคลองบางสระเก้า ซึ่งมีพื้นที่ 3 น้ำ ทำให้มีแพลงตอนและอาหารมากมาย และมีกุ้ง หอย ปู ปลา ที่สมบูรณ์ จวบจนมีการรุกรานของคนนอกพื้นถิ่น ที่ใช้เรือดุนลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำ ทำให้เกิดปัญหาสัตว์น้ำลดลง
กว่า 20 ปี ภายใต้การนำของผู้ใหญ่อู๊ด (นายสถิต แสนเสนาะ) ที่ร่วมใจกับชาวบ้านจนสามารถขับไล่เรือดุนออกนอกพื้่นที่สำเร็จ แล้วร่วมกันจัดตั้ง บ้านปลา ธนาคารปู เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในชุมชนเอาไว้
การสร้างบ้านปลา ก็คือการสร้างปะการังเทียม โดยนำยางนอกรถยนต์มามัดเป็นลูกเต๋า แล้วนำไปปล่อยไว้ตามคลอง เพื่อเป็นที่หลบภัยจากกระแสน้ำของปลาตัวเล็กๆ เมื่อมีปลาเล็กย่อมมีปลาใหญ่ที่เข้ามากินปลาเล็กตามวงจรธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดแหล่งอาหารของชุมชนอีกครั้ง ชาวประมงไม่ต้องเดินทางไกล เสียเงิน เสียเวลา เพราะสามารถจับปลาในท้องถิ่น และยังสร้างรายได้อย่างงามอีกด้วย ซึ่งสามารถไปดูการสร้างบ้านปลาในเดือนมกราคมของทุกปี
สำหรับธนาคารปู เปรียบเสมือนโรงพยาบาลรับฝากท้องของบรรดาแม่ปูทั้งหลาย โดยเฉพาะปูไข่นอกกระดอง เนื่องจากปูไข่เป็นที่นิยมกินกันมาก ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนพันธุ์ปูที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าต้องทำการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไปพร้อมๆ กัน จึงมีการทำกติการ่วมกันในชุมชนว่า เมื่อจับปูไข่ได้โดยเฉพาะปูไข่นอกกระดองที่สามารถผลิตลูกได้เป็นล้านตัว ให้นำมาฝากธนาคารปูไว้เมื่อแม่ปูฟักไข่เป็นลูกปูเล็กๆ มากมาย ก็จะนำไปปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ เพื่อกลายเป็นแหล่งอาหารต่อไป
ต้นโกงกางต้นนี้ให้ทายกันเล่นๆ ว่าอายุเท่าไร?
เฉลยเลยดีกว่าค่ะ อายุ 2 ปี ได้ต้นเท่านี้เอง
ในอนาคตนักท่องเที่ยวสามารถนั่งแพชมธรรมชาติได้
พร้อมบ้านพักที่ึคาดว่าปี 2561 น่าจะพร้อมให้บริการ
ไปถึงบ้านผู้ใหญ่อู๊ดทั้งทีต้องได้ชิมเมนูพื้นบ้านอย่างต้มยำปลากระบอก
มีความแซบระดับ 10 พร้อมน้ำมะพร้าวสดๆ จากสวนชื่นใจในราคาลูกละ 20 บาท
ใครสนใจไปเที่ยวทำกิจกรรม พาลูกไปหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องปู ปลา หรือรับประทานอาหาร
ติดต่อผู้ใหญ่อู๊ดได้ที่เบอร์ 081 1158 9440 , 099 025906832
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ.ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
เนอสเซอรี่สัตว์น้ำของในหลวงรัชกาลที่ ๙
สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ก็เหมือนกับเด็ก หากไม่มีการดูแลที่ดี โอกาสที่จะเจริญเติบโตเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ก็คงลำบาก ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทรงรับสั่งให้ทำที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีตั้งแต่การทดลองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ในน้ำกร่อย รวมทั้งยังโปรดฯ ให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้โกงกาง เพราะหากขยายได้สำเร็จ ก็จะสามารถจัดระบบนิเวศได้เหมาะสม
เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่๙ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะต่างๆ ทรงพบว่าทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งถูกทำลายอย่างหนัก สัตว์น้ำถูกจับขายจนขยายพันธ์ุไม่ทันทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงโดยตรง นอกจากนี้พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเจริญพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด และยังเป็นแนวป้องกันชายฝั่งที่สำคัญก็ประสบปัญหาน้ำทะเลเอ่อล้นจนท่วม บางแห่งก็ถูกบุกรุกจนกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ต้องหามาตรการวิธีป้องกันและอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งและป่าชายเลนโดยเร่งด่วน
แม้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะไม่ได้เสด็จฯ มาที่อ่าวคุ้งกระเบนอีกเลย แต่ก็ไม่เคยละทิ้ง ยังคงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว และการทำงานของเจ้าหน้าที่เสมอ เพราะทรงถือว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ที่ทรงตั้งใจจะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตสำหรับประชาชนที่สนใจเรียนรู้และต้องการแนวทางเพื่อนำไปปรับใช้และประยุกต์ในพื้นที่ของตน
นอกจากศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ที่ให้ความรู้ความเข้าใจด้านทรัพยากรชายฝั่งทะเลได้อย่างชัดเจนแล้ว อยากชวนทุกคนไปเดินเล่นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ ไปทักทายปู่แสม ต้นนี้ที่มีอายุยาวนานถึง 100 ปี
ไปดูอนุสรณ์หมูดุด หรือพะยูน จ้าวแห่งคุ้งกระเบน แต่เดิมเคยพบได้ที่อ่าวคุ้งกระเบนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้สูญพันธุ์และกลายเป็นตำนานแห่งอ่าวคุ้งกระเบน
มีเส้นทางพายเรือคายัค
หอดูเรือนยอดไม้
ออกกำลังแล้วเดินขึ้นไปดูหอดูเรือนยอดไม้ ที่ไม่สูงเกินเหนื่อยประมาณ 15 เมตร เท่านั้น มีบันไดเวียนสำหรับขึ้นลง โดยมีจุดพักในแต่ละชั้น ชั้นบนสุดเป็นระเบียงห้าเหลี่ยม สำหรับนั่งชมวิวอ่าวคุ้งกระเบน และวิวป่าชายเลนจากมุมสูง ถ้าตาดีอาจจะได้เห็นนกที่อาศัยอยู่ในแถบอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งมีมากกว่า 120 ชนิด
ป่าชายเลนคุ้งกระเบนถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง สะพานเดินศึกษาธรรมชาติมีระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เต็มไปด้วยความร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่หลากหลายชนิด เช่น ป่าโกงกาง แสม ลำพู รวมถึงสัตว์น้ำตัวเล็กๆ กุ้ง หอย ปู ปลา ก็มีให้ดูตลอดทาง และไม่ต้องกลัวเหนื่อยไปได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มีศาลาให้พักเหนื่อยตลอดทางค่ะ
ก่อนถึงทางบ่อจะมีบ่อเลี้ยงกุ้งที่วิวสวยทีเดียวค่ะ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
เปิด เวลา 08.30 – 16.30 น.
โทร.0 -3943-3216-8
เราพักกันที่แหลมสิงห์ค่ะ มีที่พักมากมายเลือกตามใจชอบ หรือใครสายโฮมสเตย์อยากนอนริมน้ำก็ไปพักที่ขลุงก็ได้
ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในแหลมสิงห์ต้องเป็น โอเอซิส พาลูกไปดูโลมาที่นี่จะฟินมาก แต่ว่าคุณแม่ว่าเราไปที่อื่นกันก่อนมั้ยคะเดี๋ยวแม่พามาใหม่ สัญญาทำตาปริบๆ
จุดชมวิวแหลมสิงห์ หากนั่งเรืออ้อมไปอีกฝั่งจะมองเห็นรูปสิงห์ชัดเจนกว่านี้ค่ะ
สะพานตากสินมหาราช หรือสะพานแหลมสิงห์เป็นสะพานที่ทอดยาวข้ามแม่น้ำจันทบุรีที่กำลังไหลลงสู่อ่าวไทย ความยาวประมาณ 1.06 กิโลเมตรบนสะพานแห่งนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในการเดินชมบรรยากาศและทิวทัศน์ของชุมชนริมฝั่งปากแม่น้ำ เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว ยังมีวิถีชีวิตชาวประมงให้เห็นตลอดทั้งวัน
เพราะคุณแม่อยากมาที่นี่มาก ฮา จุดชมวิวเนินนางพญา วันหยุดคนเยอะคึกคักเชียว
ใครมาก็ต้องถ่ายมุมไฮไลต์
ภาพมุมสูงได้ลงทะเบียนการใช้โดรนเรียบร้อยแล้ว
ไปเที่ยวกันต่อค่ะ บึ่งเข้าเมืองกันบ้างไปที่ริมน้ำจันทบูรกันดีกว่า และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญถือว่าเป็นอีกหนึ่งโบสถ์สวยที่สุดในไทยก็ได้นั่นก็คือ โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาธอลิก มีลักษณะตามศิลปะแบบโกธิก
เดิมมีหลังคาเป็นยอดแหลมแต่ได้มี การรื้อส่วนแหลมออกในสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายในการโจมตีทางอากาศ มีการตกแต่ง โบสถ์ไม้ฉลุลายประดับกระจกสี สวยงามยิ่งนัก
หากใครถ่ายภาพพระแม่ให้สังเกตุลูกโลกซูมเข้าไปจะเห็นเป็นแผนที่ประเทศไทยสวยงามมาก
เดินจากโบสถ์ข้ามสะพานมาเราก็มาถึงชุมชนริมน้ำจันทบูร
มชนริมน้ำจันทบรู ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีด้านตะวันตก แต่เดิมรู้จักกันในชื่อที่เรียกกันติดปากว่า “บ้านลุ่ม” ซึ่งเป็นชุมชน เก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาได้พัฒนามาเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของ จันทบุรีที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคือสถานที่ท่องเที่ยว ที่หากใครที่มาเยือนจังหวัด จันทบุรีแล้วไม่ควรพลาด
ชุมบ้านเรือนริมน้ำเก่าสมัย ร.5 และวิถีชีวิตของคนในชุมชน และสถาปัตยกรรมโบราณร้านขายของและร้านอาหารต่างๆ แต่ละร้าน ไม่ทำร้านให้โดดเด่น หรือขัดแย้งกับสถานที่แต่กลมกลืนไปกับบรรยากาศเก่าๆตามแบบเดิมของชุมชนริมน้ำจันทบูร
ระยะทางของชุมชนริมน้ำจันทบูรยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถเดิน หรือ ปั่นจักรยานก็ได้ มีแผนที่ และป้ายบอกสถานที่สำคัญในชุมชน
เดินมาถึงบ้านหลังนี้ บ้านเลขที่ 69 ขุนอนุสรสมบัติ บ้านเรียนรู้ชุมชน ชุมชนริมน้ำจันทบูร” เป็นบ้านเก่าแก่ที่รวบรวมประวัติของชุมชนริมน้ำจันทบูร มีภาพเก่า และข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนให้ได้ชม
ก่อนที่บ้านเลขที่ 69 จะจัดทำเป็นบ้านเรียนรู้ชุมชน บ้านมีสภาพที่ทรุดโทรมมาก ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2553 และได้เปิดเป็นบ้านเรียนรู้ชุมชนในเวลาต่อมา โดยคุณป้าบุญพริ้มได้สนับสนุนงบประมาณการซ่อมแซม และยินดีที่จะให้บ้านนี้ทำประโยชน์ต่อชุมชน โดยมีการรวบรวมประวัติ ความเป็นมา ของย่านเมืองเก่าจันทบุรีทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน
เดินจนหิวได้เวลามื้อเที่ยง เราได้รับลายแทงมาว่าหากไปเที่ยวริมน้ำจันทบูรต้องไปชิมก๋วยเตี๋ยวกั้งเจ๊อี๊ด ร้านนี้เลยค่ะ
ตอนไปถึงคนแน่นร้านต้องยืนรอ
นี่เลยค่ะสูตรเด็ด บะหมี่ต้มยำ ทุกอย่างมีทั้งกุ้ง กั้ง ปลาหมึก จัดมาเต็มชามละ 100 บาท
บะหมี่แห้งกั้งล้วน ก็ 100 บาท
อิ่มแล้วยังไม่จบต้องตบด้วยเค้กและกาแฟ ไปตามหาร้านกันต่อค่ะ
ริมน้ำจันทบูรมีร้านกาแฟหลายร้าน ครบหมดทั้งชิคๆ คูลๆ มินิมอล ฮิปสเตอร์ ริมน้ำ เลือกเอาตามใจชอบ
แต่เราตั้งใจแล้วว่าจะไปร้านนี้ บางเวลา
ร้านเล็กๆ ถ้าไม่สังเกตุดีๆ อาจจะมองไม่เห็นด้านในร้านตกแต่งสไตล์มินิมอล มีภาพวาดน่ารักฝีมือเจ้าของร้าน โปสการ์ดสวยๆ น่าเหมาทุกลายเมนูพร้อมราคาตามนี้เลย ไม่แพงรสชาติดีค่ะ
เจ้าของร้านยังใจดีภาพรูปให้เมลลี่ด้วยเหมือนมั้ยคะ
ก่อนกลับอย่าลืมซื้อของของฝากที่มีขายเต็มสองข้างทางและไอศกรีมตราจรวด เป็นอาคารปูนผสมไม้สองชั้น อายุกว่า 100 ปี ด้านหน้าเป็นตึกแบบยุโรป ในอดีตบ้านนี้เป็นของตระกูลหลวงราชไมตรี ประมาณปี 2502 ได้เปิดเป็นโรงงานทำไอศกรีมด้วยเครื่องจักรแห่งแรกของเมืองจันท์ สิ่งที่มีคุณค่าของบ้านนี้ได้แก่ ลวดลายฉลุสวยงาม อุปกรณ์ทำไอศกรีม และกระติกกลมบรรจุไอศกรีมแท่งโบราณ ทายาทรุ่นปัจจุบันยังคงสืบต่อกิจการโรงงานไอศกรีมหลากหลายชนิด โดยยังคงการผลิตไอศกรีมชนิดดั้งเดิมไว้ด้วยเอกลักษณ์รสชาติที่ทำขายมานานกว่า 50 ปี
ทริปเที่ยวเมืองจันท์ ตามรอยหนังสือวิชา ๙ หน้า ยังมีชุมชนอื่นๆ และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น
– วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี
– ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว
– น้ำตกพลิ้ว
– หาดเจ้าหลาว
– หาดแหลมเสด็จ
– คุกขี้ไก่
– ตึกแดง
หากมีโอกาสจะพาลูกตามรอยให้ครบทุกวิชาเลยค่ะ ใครไปที่ไหนมาแล้วเอารูปไปอวดที่เพจเที่ยวแบบกรู ได้นะคะ ):